ชาฤๅษี ๔

Paraboea argentea Z. R. Xu

ไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้พุ่ม ต้นตั้งตรง แตกกิ่งห่าง เปลือกต้นใกล้โคนสีเทา มีนวล ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากค่อนข้างแน่นบริเวณปลายยอด ใบล่าง ๆ หลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบเป็นสันนูนรอบข้อใบรูปขอบขนานแคบถึงรูปใบหอกแคบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบคล้ายช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ เรียวยาวเมื่อแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดสีน้ำตาล รูปคล้ายกระสวย ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ชาฤๅษีชนิดนี่เป็นไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้พุ่ม ลำต้นสูง ๒๐-๓๐ ซม. ตั้งตรง แตกกิ่งห่าง บริเวณข้อป่องเห็นชัด เปลือกต้นใกล้โคนสีเทา มีนวล โคนแตกเป็นแขนงใหญ่ มีรากเกาะกับหิน อาจมีหน่อขนาดเล็กอยู่ที่โคนลำต้น

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากค่อนข้างแน่นบริเวณปลายยอด ใบล่าง ๆ หลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบเป็นสันนูนรอบข้อ ใบรูปขอบขนานแคบถึงรูปใบหอกแคบ กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๒.๕-๘ ซม. ปลายมน โคนมนหรือเป็นรูปหัวใจแคบ ขอบจักฟันเลื่อย ด้านบนสีเขียว ค่อนข้างเกลี้ยง ด้านล่างมีนวลและมีขนขนาดเล็กสีเงินหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละประมาณ ๑๐ เส้น ก้านใบยาว ๑-๕ ซม. โคนก้านใบแผ่ออกคล้ายติ่งหูและโค้งเป็นแอ่งหุ้มข้อ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนเชิงประกอบคล้ายช่อแยกแขนง มี ๒-๔ ช่อ ออกที่ปลายยอดหรือตามซอกใบใกล้ปลายยอด แกนกลางช่อยาว ๑๐-๒๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๕-๑๕ ซม. ดอกออกเป็นคู่ มีจำนวนมาก ก้านดอกอาจยาวได้ถึง ๑ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยคล้ายกลีบเลี้ยง รูปรีแคบ ขนาดค่อนข้างเล็ก มีนวลและมีขนสั้นสีเงินหนาแน่น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่แคบ กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนสีเงินเป็นร่างแห ด้านในเรียบเกลี้ยง กลีบดอกสีขาวคล้ายรูปวงล้อ กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกรูปไข่กว้างหรือรูปเกือบกลม กว้างประมาณ ๔.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมนกลม เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูเป็นแถบค่อนข้างแบน ยาวประมาณ ๒.๕ มม. บิดงอตรงกลาง อับเรณูสีเหลือง กว้างและยาวประมาณ ๒.๕ มม. กางออก แต่ละอับติดกันเล็กน้อยที่ปลาย เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสรเป็นหมัน ติดอยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก จานฐานดอกเป็นวงแหวน สูงประมาณ ๑ มม. เกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีเขียว รูปทรงกระบอกแคบ ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ เรียวยาว กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๓ ซม. เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดสีน้ำตาล รูปคล้ายกระสวย ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชาฤๅษีชนิดนี่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบตามหน้าผาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาฤๅษี ๔
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea argentea Z. R. Xu
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
argentea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Xu, Zhao Ran
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1957-)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ